ยินดีต้อนรับสู่โรงพยาบาลโพนสวรรค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม กระทรวงสาธารณสุข ด้วยความยินดียิ่ง วิสัยทัศน์ : " โรงพยาบาลโพนสวรรค์ เป็นโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี เป็นที่ประทับใจ "

บทความ / สาระน่ารู้

‘มะเร็งรังไข่’ ป้องกันได้หากเปลี่ยน ‘พฤติกรรม’

วันที่ : 23 กรกฎาคม 2556

หลังจากที่หมอชวนคุยเรื่องการตรวจหามะเร็งรังไข่ไปแล้ว ก็มีผู้อ่านเกิดข้อสงสัยและสอบถามมาว่า จะมีแนวทางป้องกันตนเองอย่างไรให้ห่างไกลจากมะเร็งชนิดนี้? มะเร็งรังไข่พบมากเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งที่พบในหญิงไทย ส่วนใหญ่กว่าจะคนไข้จะพบว่าตนเป็นมะเร็ง ก็มักจะเข้าสู่ระยะท้ายๆ หรือระยะที่รุนแรงจนการรักษาไมค่อยได้ผล อัตราการเสียชีวิตจากโรคจึงค่อนข้างสูง

แนวทางการป้องกันมะเร็งรังไข่ที่ได้ผลที่สุด คือ การปรับพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ซึ่งคุณผู้หญิงจะต้องปรับพฤติกรรมและเฝ้าระวังมะเร็งชนิดนี้ในทุกช่วงของชีวิต เริ่มต้นตั้งแต่วัยสาวไปจนถึงช่วงที่เข้าสู่วัยทองเลยทีเดียว

วัยสาว : ปรับพฤติกรรม – ลดความเสี่ยง
เริ่มต้นจากการกินอาหาร คุณสาวๆ ควรกินอาหารสุขภาพที่มีสัดส่วนของผักผลไม้มากขึ้น โดยเฉพาะผักที่มีสารคาร์โรทีนอยด์ เช่น มะเขือเทศ หรือแครอท เพราะสารคาร์โรทีนอยด์มีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็งรังไข่ รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆ เช่น โปรตีนประเภทเนื้อปลาและถั่วเหลือง, อาหารที่มีกากไย ธัญพืชที่มีแคลเซียมและไฟโตเอสโตรเจน (เอสโตรเจนที่ได้จากพืช), ผักผลไม้ที่มีวิตามิน A, C, D, E และน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันจากเมล็ดพืช ก็ช่วยป้องกันมะเร็งรังไข่ได้เช่นกัน

นอกจากจะกินอาหารเพื่อสุขภาพให้มากขึ้นแล้ว คุณผู้หญิงทั้งหลายก็อย่าเผลอปล่อยตัวให้อ้วนเกินไป เพราะผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) มากกว่า 30* จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่มากขึ้นเกือบ 2 เท่า (*วิธีคำนวณ คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร)2)

สิ่งสำคัญอีกอย่าง ควรหลีกเลี่ยงบุหรี่ ทั้งแบบสูบเองและแบบควันบุหรี่มือสอง (การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่เป็นประจำ) เพราะสารพิษในบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ส่วนผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนงานนี้รอดตัวค่ะ ยังสามารถดื่มได้ ไม่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง แต่ก็ไม่ควรดื่มมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพนะคะ

วัยครอบครัว : วางแผนการมีบุตร
การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร
เป็นการป้องกันมะเร็งรังไข่ตามธรรมชาติ เพราะช่วงที่อุ้มท้องและให้นม รังไข่จะไม่มีการตกไข่จึงลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งไปโดยปริยายนอกจากนี้การทำหมันถาวรเมื่อมีบุตรเพียงพอแล้วก็เป็นการคุมกำเนิดที่ช่วยลดความเสี่ยงของของการเป็นมะเร็งรังไข่ได้ถึง 0.4-0.7 เท่าคุณผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีพร้อมมีบุตร หากเลือกวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่เหมาะสม ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ได้เช่นกัน อาทิเช่น การกินยาเม็ดคุมกำเนิดจะช่วยป้องกันการตกไข่ เมื่อรังไข่ไม่มีไข่ตกก็จะลดโอกาสการเกิดมะเร็งรังไข่

อย่างไรก็ตาม หากไม่ต้องการคุมกำเนิดก็ไม่ควรกินยาคุมกำเนิดเพื่อให้ออกฤทธิ์ป้องกันมะเร็งรังไข่อย่างเดียว เพราะถ้ากินยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานเกินกว่า 5 ปี อาจมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดตีบ ซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ค่ะ

 

วัยทอง : การใช้ฮอร์โมนทดแทน
สำหรับคุณผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยทอง หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรใช้ฮอร์โมนทดแทนฮอร์โมนเพศ เพราะการใช้ฮอร์โมนทดแทน อาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ได้ ยกเว้นในรายที่มีข้อบ่งชี้ว่า ได้รับประโยชน์จากการใช้ฮอร์โมนทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนจริงๆ เช่น ใช้ป้องกันกระดูกหัก, ช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่เกิดปัญหาช่องคลอดแห้งจนส่งผลต่อสัมพันธ์รักและเกิดปัญหาครอบครัวตามมา, หรือช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต ลดความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า ฯลฯ
หากเกิดปัญหาเหล่านี้ ฮอร์โมนทดแทนอาจเป็นทางออกที่ดีแต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ รวมถึงคุณผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพทุก 6-12 เดือน

คำแนะนำทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นคำแนะนำสำหรับการดูแลตัวเองให้ปลอดมะเร็งอย่างง่ายๆ ซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งรังไข่ที่ทุกคนกลัวกันได้ระดับหนึ่ง แต่การป้องกันอาจทำได้ไม่ครบ 100% ดังนั้นคุณผู้หญิงทุกท่านจึงไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพประจำปีกัน เพื่อตรวจหามะเร็งเสียแต่เนิ่นๆ

มะเร็งรังไข่หรือโรคใดๆ ก็ตาม หากตรวจพบได้เร็ว รู้ตัวเร็ว ผลการรักษาก็ย่อมดีกว่าและได้ผลกว่ามารู้เอาเมื่อสายแน่นอนค่ะ


ข้อมูลข่าวและที่มา

จำนวนผู้เข้าชม : 10553 คน
โดย : งานเทคโนโลยีสารสนเทศ/โสต